ข้อมูลและการประมวลผล
ข้อมูล (data) หมายถึง ความจริงที่อยู่ในรูปของตัวเลข ข้อความ ภาพ เสียง ข้อสังเกตที่รวบรวมมาจากเหตุการณ์หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ได้ให้นิยามคำว่า “ข้อมูล” คือ ข้อเท็จจริงหรือสิ่งที่ถือ หรือยอมรับว่าเป็นข้อเท็จจริง สำหรับใช้เป็นหลักอนุมานหาความจริงหรือการคำนวณ
ข้อมูล ประกอบด้วย
1. ข้อมูลเชิงปริมาณ (quantitative data) อยู่ในรูปของตัวเลข เช่น จำนวนเสือโคร่งในประเทศไทย จำนวนคนร่วมชมการถ่ายทอดสดผ่าน Facebook ปริมาณน้ำฝนรายเดือน
2. ข้อมูลเชิงคุณภาพ (qualitative data) อยู่ในรูปข้อความ อธิบายความหมาย บรรยายความคิดเห็น ความรู้สึก บทสัมภาษณ์ เช่น สถานที่ทัศนศึกษาที่นักเรียนแต่ละคนในห้อง ม.1/8 สนใจ ความรู้สึกที่มีต่อการชมภาพยนตร์ การบรรยายลักษณะนิสัยของบุคคล
แหล่งข้อมูล เป็นแหล่งกำเนิดของข้อมูล หรือเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูล เช่น คน สัตว์ สิ่งของ สถานที่ เหตุการณ์
ข้อมูลแบ่งตามลักษณะของการได้มา ดังนี้
1. ข้อมูลปฐมภูมิ (primary data) คือ ข้อมูลที่ได้จากแหล่งกำเนิดข้อมูลหรือจุดเริ่มต้นของข้อมูล เช่น ข้อมูลที่ได้จากการทดลอง การค้นพบทางวิทยาศาสตร์ ข้อมูลความสำเร็จ ภูมิปัญญา ข้อมูลสถานการณ์ทางการเมือง ความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญ
2. ข้อมูลทุติยภูมิ (secondary data) คือ ข้อมูลที่ไม่ได้มาจากแหล่งกำเนิดโดยตรง แต่ได้มาจากการอ้างอิงถึงข้อมูลปฐมภูมิ หรือนำข้อมูลปฐมภูมิ มาวิเคราะห์ ประมวลผล ซึ่งอาจอยู่ในรูปสถิติ บทวิจารณ์ บทความ เอกสารต่าง ๆ เป็นต้น
การรวบรวมข้อมูล
1. การสัมภาษณ์ (interview) อาจเป็นการสัมภาษณ์โดยตรงหรือผ่านช่องทางการสื่อสารอื่น เช่น โทรศัพท์ สื่อสังคมออนไลน์ คำถามที่ใช้ชัดเจน
2. การสำรวจ (survey) ทำโดยสร้างแบบสำรวจที่กำหนดคำถามเพื่อค้นหาข้อมูล หรือความเห็นที่ต้องการ เช่น การสำรวจความพึงพอใจของการ บริหารงานของสภานักเรียน
3.การสังเกต(observe) เป็นวิธีที่ง่ายที่สุด ใช้สำหรับรวบรวมข้อมูลจากเหตุการณ์หรือสถานการณ์ หรือพฤติกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงไป เช่น การสังเกตพฤติกรรมของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ระหว่างรับประทานอาหาร การสังเกตพฤติกรรมการทิ้งขยะของนักเรียน
4. การทดลอง (experiment) เป็นการรวบรวมข้อมูลจากการทดลอง หรือทดสอบที่มีการควบคุมปัจจัยบางประการ เช่น การบันทึกผลการเจริญเติบโตของถั่วงอกเมื่อมีแสงแดดและไม่มีแสงแดด
5. การทบทวนเอกสาร (document/literature review) เป็นการรวบรวมข้อมูลจากเอกสาร รายงาน บทความ หรือแบบฟอร์มสำหรับรวบรวมข้อมูล เช่น แบบบันทึกการเข้าเรียนของนักเรียน รายงานประจำปี รายงานการประชุม จดหมายข่าว แบบฟอร์มลงเวลาปฏิบัติงาน
6. การสำมะโน(census) เป็นการรวบรวมข้อมูลจำนวนมากที่ดำเนินการเป็นประจำ เช่น สำนักงานสถิติแห่งชาติได้มีการสำมะโนประชากรและเคหะ ซึ่งดำเนินการเป็นประจำทุก 10 ปี
สิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการรวบรวมข้อมูล
1. ความถูกต้อง (accuracy) ข้อมูลทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพต้องมีความถูกต้อง เช่น ข้อมูลคะแนนสอบเพื่อประเมินผลการเรียนต้องมีความถูกต้อง
2. ความทันสมัย (timeliness) ข้อมูลจะใช้งานได้ต้องอยู่บนพื้นฐานของช่วงเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การใช้ประโยชน์จากข้อมูล เช่น ข้อมูลน้ำหนักและส่วนสูงของนักเรียนเมื่อ 2 ปีที่แล้วไม่สามารถนำมาประมวลผลพิจารณาการเติบโตของนักเรียนในปัจจุบันได้
3. ความเกี่ยวข้อง (relevance) ข้อมูลต้องมีความเกี่ยวข้องกับสิ่งที่จะนำไปใช้ประโยชน์ได้ เช่น ข้อมูลที่จะใช้ในการตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยวอาจประกอบด้วย แหล่งท่องเที่ยว เวลาเปิด – ปิด ระยะทาง วิธีการเดินทาง เป็นต้น
เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล
การเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีการต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้วนั้น เครื่องมือที่ใช้เก็บรวบรวมข้อมูล เช่น แบบสำรวจ แบบสัมภาษณ์ แบบสอบถาม แบบสังเกต ในปัจจุบันการเก็บรวบรวมข้อมูลอาจใช้แอปพลิเคชันหรือสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อลดภาระในการจัดเก็บข้อมูล ลดข้อมูลผิดพลาด และช่วยทำให้สะดวกรวดเร็ว
นอกจากนี้ในการสำรวจอาจมีเครื่องมือที่อำนวยความสะดวกเพิ่มเติม เช่น โทรศัพท์ อุปกรณ์บันทึกเสียงและภาพ เครื่องนับจำนวน (clickers) เครื่องอ่านบาร์โค้ด (barcode reader)
การรวบรวมข้อมูลจะต้องมีการอ้างอิงแหล่งข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้อง เพื่อยืนยันว่า ข้อมูลมาจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือหรือไม่และเป็นมารยาทที่ เหมาะสมในการแสดงคำขอบคุณต่อแหล่งข้อมูลที่เรานำข้อมูลมาใช้ประโยชน์
การประมวลผลข้อมูล
การประมวลผลข้อมูล (data processing) หมายถึง กระบวนการที่กระทำกับข้อมูลที่รวบรวมไว้เพื่อให้ได้ข้อมูล หรือสารสนเทศที่อยู่ในรูปแบบที่
ต้องการนำไปใช้
การประมวลผลข้อมูลมี 2 รูปแบบ ดังนี้
1. การประมวลผลด้วยมือ ใช้กระดาษ ปากกา และแรงคนในการดำเนินการ
2. การประมวลผลด้วยเครื่องมือ ใช้เครื่องมือช่วยทุ่นแรง เช่น เครื่องพิมพ์ดีด เครื่องคิดเลข เครื่องนับจำนวน เครื่องนับธนบัตร
รูปแบบการประมวลผลข้อมูลที่นิยมใช้ในปัจจุบัน เป็นการประมวลผลด้วยเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ เช่น คอมพิวเตอร์ สมาร์ตโฟน
ในกระบวนการประมวลผลข้อมูลด้วยคอมพิวเตอร์ เราเรียกข้อมูลที่นำเข้าสู่กระบวนการว่าข้อมูลเข้า (input) และเรียกสิ่งที่ได้จากการประมวลผล (process) ว่าข้อมูลออกหรือผลลัพธ์ (output) ซึ่งผลลัพธ์นี้อาจถูกนำไปเป็นข้อมูลข้าวของงกระบวนการอื่นได้
การประมวลผลมีด้วยกันหลายวิธี เช่น
1. การคำนวณ (computation) เป็นการนำข้อมูลที่มีอยู่แล้วมาคำนวณตามข้อกำหนดของการประมวลผลเพื่อให้ได้ค่าผลลัพธ์ใหม่ เช่น คำนวณ
อายุปัจจุบันจากปีเกิด หาค่ามากที่สุด ค่าเฉลี่ย
2. การเรียงลำดับ (sort) เป็นการจัดข้อมูลให้อยู่ในลำดับที่เหมาะสม โดยการจัดเรียงข้อมูลตัวเลขหรือตัวอักษรตามลำดับที่ต้องการเพื่อให้เรียก
ใช้งานได้ง่าย
3. การวิเคราะห์ (analyse) เช่น การจัดกลุ่ม การแยกประเภท การตีความ
4. การสรุป (summation) เป็นการสรุปใจความสำคัญ ให้เหลือเฉพาะประเด็นหลัก
5. การรายงาน (reporting) เป็นการนำเสนอ เสนอผลลัพธ์ที่ได้ในรูปแบบต่างๆ เช่น เล่มรายงานหรือไฟล์ ป้ายนิเทศ
สารสนเทศ (Information)
หมายถึง ข้อมูล ข่าวสาร ข้อเท็จจริงที่ผ่านการประมวลผลในรูปแบบต่าง ๆ สามารถนำไปใช้ประโยชน์และช่วยในการตัดสินใจเพื่อแก้ปัญหาได้ตามความต้องการของผู้ใช้งาน
อ้างอิง:
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, “เทคโนโลยี(วิทยาการคำนวณ)”, โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ศูนย์หนังสือแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2561
https://sites.google.com/a/patum.ac.th/kru-picnic